Self-awareness จุดเริ่มต้นสำหรับการพัฒนาตนเอง ท่ามกลางสังคมที่วุ่นวาย

Self-awareness คือ

อยากเป็นตัวเราในเวอร์ชันที่ดีกว่านี้กันไหม? Self-awareness จุดเริ่มต้นสำคัญสำหรับการพัฒนาตนเอง ท่ามกลางสังคมที่เร่งรีบและวุ่นวายในแต่ละวันเราพบเจอกับสถานการณ์ต่างๆ ทั้งที่ควบคุมได้และไม่สามารถควบคุมได้

ทำให้บางครั้งอาจเผลอแสดงสีหน้า ท่าทาง คำพูด รวมถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกไปจนกลายเป็นผลเสียไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว ยิ่งหากคุณต้องประสานงานกับคนจำนวนมาก

การตระหนักรู้ตนเองถือเป็นทักษะการเข้าสังคมที่สำคัญเพราะคุณไม่สามารถทำงานนั้นเพียงคนเดียวได้ ดังนั้นการแสดงออกอย่างเหมาะสมจะช่วยให้บรรยากาศการทำงานดีขึ้นส่งผลให้งานออกมามีประสิทธิภาพและสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

Self-awareness คือ

Self-awareness คือ ความสามารถในการตระหนัก รับรู้สิ่งที่มีอยู่หรือกำลังจะเกิดขึ้นและมองเห็นตนเองผ่านสภาวะต่างๆ เช่น ความต้องการ อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ประสบการณ์ รวมถึงการรับรู้ผลที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเราแสดงอามรมณ์ ความรู้สึกต่างๆ ออกไปกับบุคคลอื่น

คนส่วนใหญ่มักไม่เข้าใจระดับอารมณ์ของตนเองจนแสดงออกมามากเกินไปทำให้มีผลต่อพฤติกรรมและความคิด เช่น หัวหน้ามักใช้คำพูดที่รุนแรงเมื่อลูกน้องทำงานพลาดเพราะเคยชินและมีความคิดว่าสามารถตำหนิลูกน้องได้

การแสดงออกเหล่านี้ส่งผลเสียมากกว่าผลดีนอกจากจะทำให้เกิดความอึดอัดงานยังออกมาไม่ดีตามที่ตั้งเป้าหมายไว้อีกด้วย ดังนั้นการตระหนักรู้ตนเองเป็นการมองเห็นคำพูดและมองตัวเองแบบที่คนอื่นเห็นซึ่งเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการสร้างและเติมเต็มชีวิตให้ดียิ่งขึ้น

สำหรับทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับ Self-awareness เริ่มมาจากในปี ค.ศ. 1972 นักจิตวิทยา Shelley Duval และ Robert Wicklund ได้ศึกษาถึงการตระหนักรู้ว่าคือรูปแบบหนึ่งของการประเมินตนเอง กล่าวคือ เราจะมีความรู้สึกเป็นกลางเมื่อได้ทำการประเมินคุณค่าในตัวเอง

Self-awareness สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

  1. การตระหนักรู้ภายใน (internal self-awareness) คือ การมองเห็น ความเข้าใจ ความรู้สึก การแสดงออก และการตระหนักรู้ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้เมื่อแสดงออกไปจะส่งผลต่อผู้อื่นอย่างไรบ้าง
  2. การตระหนักรู้ภายนอก (external self-awareness) คือ การมองตัวเองจากมุมมองของคนอื่นๆ การตระหนักรู้ประเภทนี้จะช่วยให้เรามองตัวเองได้กว้างขึ้นเพราะเป็นการมองแบบไม่มีอคติหรือมีการใส่ความคิดของเราปะปนเข้าไป ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถรับมือและทำงานกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น

Self-awareness สำคัญอย่างไร

การตระหนักหรือการรู้จักตนเองให้มากขึ้นมีประโยชน์ต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคุณเป็นอย่างมาก เพราะเป็นกลไกที่จะช่วยให้เกิดการควบคุม ช่วยให้คุณค้นหาความสุขและความสำเร็จของชีวิตง่ายขึ้น เช่น

  1. การสร้างความสัมพันธ์ ไม่มีใครอยากพูดคุยหรือช่วยเหลือคนที่อารมณ์รุนแรงหรืออารมณ์เสียอยู่ตลอดเวลา การควบคุมอารมณ์ให้แสดงออกตามความเหมาะสมของเหตุการณ์จะช่วยให้เกิดการสื่อสารที่ดี ลดความรุนแรง ความอึดอัดในที่ทำงาน และยังช่วยให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  2. การตัดสินใจดีขึ้น การรู้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึกขณะที่กำลังต้องมีการตัดสินใจจะทำให้เรามีสติ และเกิดคำถามขึ้นในใจว่าหากเราตัดสินใจแบบนี้ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร เมื่อคิดได้แล้วเราจะไม่ตัดสินใจผิดพลาดและตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  3. เกิดการพัฒนาตัวเอง ถึงแม้ว่าคุณจะมองและวิเคราะห์คนอื่นได้ไม่สำคัญเท่ากับการรู้จักตัวเอง เพราะการตระหนักรู้จะช่วยให้เราทราบว่ายังขาดและต้องพัฒนาอะไรเพิ่มเติม เพื่อให้คุณเป็นคนที่มีความสุข สามารถอยู่ในสังคมที่วุ่นวายได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
  4. ช่วยให้รู้ว่าควรหยุดพักเมื่อไร การรู้จักสภาพร่างกาย อารมณ์ จะช่วยเตรียมความพร้อมให้ทำงานอย่างเต็มที่แต่อย่าลืมจัดสรรเวลาพักผ่อน Work-Life Balance ให้เหมาะสมซึ่งจะช่วยให้ไม่เหนื่อยล้าเกินไปและเมื่อต้องกลับมาทำงานก็ยังสามารถทำได้อย่างดีเยี่ยม

Self-awareness กับการรู้จักตนเอง

เราสามารถสร้าง Self-awareness กับการรู้จักตนเอง ผ่านคำถามเหล่านี้เพื่อช่วยให้เกิดการพัฒนาและตระหนักรู้ไปพร้อมกับการทำความรู้จักตนเองให้มากขึ้นอีกขั้น ดังนี้

  1. นิสัยของคุณเป็นอย่างไร?

การรู้นิสัยของตัวเองจะทำให้รู้ว่าเราเป็นใคร? เราต้องการอะไร? ถ้าตัวเองยังไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้การพัฒนาก็จะยังไม่เกิดขึ้นเพราะพื้นฐานสำคัญคือทุกอย่างต้องเริ่มจากตัวเรา ดังนั้นคุณควรหาเวลาเพื่ออยู่กับตัวเองเงียบๆ พร้อมกับสำรวจความคิด ความต้องการ เมื่อรู้นิสัยของตัวเองดีแล้วเราจะสามารถพัฒนาไปได้ถูกทางและประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น

  1. ข้อดีและข้อด้อยของคุณมีอะไรบ้าง?

ข้อดีและข้อสัยถือเป็นคำถามที่ใครหลายคนให้ความสำคัญ เรามักพบเจอคำถามเหล่านี้แม้กระทั่งตอนสมัครหรือสัมภาษณ์งาน เพราะเป็นวิธีที่ช่วยให้รู้จักตัวเองมากขึ้น ข้อดีและข้อเสียไม่ได้เป็นนิสัยตายตัวบางครั้งอาจขึ้นกัยสถานการณ์ แต่การตระหนักรู้จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง

  1. คุณมีการวางแผนเป้าหมายชีวิตไว้อย่างไร?

คนส่วนใหญ่เบื่อหน่ายการตั้งเป้าหมายในชีวิตเนื่องด้วยสถานการณ์บังคับหรือปัจจัยภายนอกไม่อำนวย เป้าหมายชีวิตไม่ใช่สิ่งที่จะค้นหาได้เพียงข้ามวันแต่เกิดจากประสบการณ์ชีวิต เรื่องราว ความคิด ซึ่งอาจต้องใช้เวลานาน แต่เชื่อเลยว่าคนที่มีเป้าหมายจะมีแรงผลักดันให้กล้าทำสิ่งต่างๆ จนบางครั้งคุณอาจจะแปลกใจเลยว่าเราสามารถทำสิ่งนี้ให้ประสบความสำเร็จขนาดนี้ได้อย่างไร ค่อยๆ เรียนรู้ตัวเองไปประสบการณ์จะสอนเราเอง

วิธีเพิ่ม Self-awareness

ทริคเล็กๆ สำหรับคนที่ต้องการเพิ่ม Self-awareness เพื่อให้รู้เท่าทันตนเองและสามารถจัดการอารมณ์สามารถทำได้ดังนี้

  1. หมั่นทบทวนตัวเอง ในทุกๆ วัน เมื่อเรากลับมาอยู่กับตัวเองให้ลองหยุดพักและถามว่าวันนี้เราทำอะไรบ้าง เราแสดงอารมณ์ที่ทำให้คนอื่นอึดอัดหรือไม่ และอะไรบ้างที่ควรเปลี่ยนเพื่อให้ชีวิตดีขึ้น
  2. ฝึกสมาธิ การฝึกสมาธิช่วยให้อารมณ์เย็น ไม่อ่อนไหวไปกับคำพูดง่าย การฝึกสติจะช่วยให้ปิดวาจา
    ไม่เผลอด่าออกไป รู้แค่ว่าไม่พอใจและปล่อยวางในที่สุด
  3. ฟังและสังเกต คือ ฟังน้ำเสียงของตนเองระหว่างพูดอยู่เสมอ เพราะจะช่วยให้รับรู้ถึงความรู้สึก และสังเกตท่าทางผู้ที่เราพูดด้วยว่ามีท่าทีพอใจหรือไม่พึงพอใจอย่างไร การมองสะท้อนตัวเราจากผู้อื่นเป็นวิธีการที่ดีมากที่สุด
  4. บันทึกเรื่องราว การเขียนจะช่วยให้รับรู้ความรู้สึกขณะนั้นเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้วและลองย้อนกลับมาอ่านจะทำให้คุณเข้าใจตัวเองมากขึ้น และสามารถนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาเป็นประสบการณ์เพื่อให้เกิดการพัฒนาในอนาคต
  5. ถาม feedback จากผู้อื่น การสอบ รับฟัง ความคิดเห็นจากคนที่สนิทจะช่วยให้เรามองเห็นตัวเองได้กว้างขึ้น ที่สำคัญต้องรับฟังด้วยความจริงใจ ไม่ตั้งกำแพง และพร้อมจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพราะความคิดของผู้อื่นเปรียบเสมือนกระจกชั้นดีที่สะท้อนตัวเรา

สรุป Self-awareness ทั้งหมด

Self-awareness อาจดูเป็นเรื่องยากเพราะบางครั้งมนุษย์คิดว่าสามารถเข้าใจและตระหนักรู้ตนเองดีแล้ว แต่เมื่อเกิดคำถามขึ้นหลายครั้งเราไม่อาจตอบตัวเองได้ว่าแท้จริงแล้วเรามีความคิด ความต้องการอย่างไรกันแน่ ซึ่งนั้นไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใดด้วยการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบเราอาจหลงลืมการทำความเข้าใจตนเอง

แต่เมื่อคุณอ่านบทความนี้จบลองตั้งคำถามกับตัวเองดูว่า เรารู้ตัวเองเรื่องใดเป็นอย่างดี เช่น ความต้องการ ข้อดี ข้อเสีย การแสดงออก พฤติกรรมต่างๆ ทั้งดีและไม่ดีเพื่อที่จะได้พัฒนาตนเอง ข้ามผ่านความท้าทายของชีวิต เป็นคุณในแบบใหม่ที่ดีกว่าเดิมและคุณจะเห็นว่าความคิดของคุณมีผลกับตัวเองอย่างไร